ประวัติ ของ ยืนยง โอภากุล

ประวัติตอนต้น

ลุงแอ๊ด คาราบาว เกิดวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรชายฝาแฝดคนสุดท้องของ นายมนัส โอภากุล (แซ่โอ๊ว) และ นางจงจินต์ แซ่อึ๊ง (ปัจจุบันบิดาและมารดาเสียชีวิตแล้ว มารดาไม่แน่ใจว่าเสียชีวิตเพราะสาเหตุใด แต่บิดาเสียชีวิตจากโรคชรา) มีจิตใจรักเสียงเพลงและดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ จากการที่เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด จึงได้ซึมซ่าบการละเล่นพื้นบ้านของภาคกลาง เช่น ลำตัด, เพลงฉ่อย, เพลงอีแซว รวมถึงรำวง และเพลงลูกทุ่ง จากการที่พ่อ คือ นายมนัส เป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อวงดนตรี "ชสพ." เมื่อปี พ.ศ. 2480 ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้รับอิทธิพลจากดนตรีแนวตะวันตกจึงหันมาเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกต่าง ๆ เช่น กีตาร์ ซึ่งเหล่านี้ได้เป็นอิทธิพลในการเป็นนักดนตรีในเวลาต่อมา[1]

แอ๊ดเริ่มเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย และเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาต่อเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป โดยขอติดมากับรถขนส่งไปรษณีย์ เข้าเรียนต่อใน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย (โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) และต่อในระดับปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 1 ปี (ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีไทยสมัยนิยม จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง)

ที่ประเทศฟิลิปปินส์ แอ๊ดได้พบกับเพื่อนคนไทยที่ไปเรียนหนังสือที่นั้น คือไข่ - สานิตย์ ลิ่มศิลา และเขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ซึ่งยืนยงได้มีโอกาสฟังเพลงของ เลด เซพเพลิน, จอห์น เดนเวอร์, ดิ อีเกิ้ลส์ และปีเตอร์ แฟลมตัน จากแผ่นเสียงที่ไข่ - สานิตย์ ลิ่มศิลา สะสมไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมา ทั้ง 3 จึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า คาราบาว เพื่อใช้ในการแสดงบนเวทีในงานของสถาบัน โดยเล่นดนตรีแนวโฟล์ค พายุภา อาหล่ามกุล

เมื่อแอ๊ด คาราบาว สำเร็จการศึกษาและกลับมาเมืองไทย ได้ทำงานประจำเป็นสถาปนิกในสำนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง และมีงานส่วนตัวคือรับออกแบบบ้านและโรงงาน ต่อมาเมื่อไข่และเขียวกลับมาจากประเทศฟิลิปปินส์ ทั้ง 3 ได้เล่นดนตรีร่วมกันอีกครั้งโดยเล่นในห้องอาหารที่โรงแรมวินเซอร์ ซอยสุขุมวิท 20 และต่อมาย้ายไปเล่นที่โรงแรมแมนดาลิน สามย่าน โดยขึ้นเล่นในวันศุกร์และเสาร์ แต่ทางวงถูกไล่ออกเพราะขาดงานหลายวันโดยไม่บอกกล่าว

เมื่อวงถูกไล่ออก ไข่จึงได้ขอลาออกจากวงและแยกตัวออกไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอยู่ทางภาคใต้ แอ๊ดและเขียวยังคงเล่นดนตรีต่อไป โดยเล่นร่วมกับโฮป แฟมิลี่ ต่อมาปี พ.ศ. 2523 แอ๊ด คาราบาว ได้ทำงานเป็นสถาปนิก ประจำสำนักงานบริหารโครงการ ของการเคหะแห่งชาติ ส่วนเขียวทำงานเป็นวิศวกร ประเมินราคาเครื่องจักรโรงงานอยู่กับบริษัทของประเทศฟิลิปปินส์ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย และทั้งคู่จะเล่นดนตรีในตอนกลางคืน โดยเล่นประจำที่ดิกเก็นผับ ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท

มีชื่อเสียง

จุดเปลี่ยนของชีวิต แอ๊ด คาราบาว อยู่ที่การรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้มชุดแรกให้กับวงแฮมเมอร์ ในปี พ.ศ. 2522 ในชุด บินหลา โดยแอ๊ด คาราบาว ยังเป็นผู้ออกแบบปกอัลบั้มด้วย โดยอัลบั้มชุดนี้ทำให้แฮมเมอร์เป็นที่รู้จักในวงการเพลง และปี พ.ศ. 2523 แอ๊ดยังได้แต่งเพลง ถึกควายทุย ให้แฮมเมอร์บันทึกเสียงในอัลบั้ม ปักษ์ใต้บ้านเรา ซึ่งอัลบั้มชุดดังกล่าวทำให้แฮมเมอร์โด่งดังอย่างมาก และได้ร่วมแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ของพนม นพพร ในเรื่องหมามุ่ย ในปี พ.ศ. 2524

หลังจากนั้นตัวของ แอ๊ด คาราบาว ก็มีความคิดที่ว่าหากจะออกอัลบั้มเป็นของตัวเอง คงจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน จึงร่วมกับเขียว ออกอัลบั้มชุดแรกของวง คาราบาว ในชื่อชุด ขี้เมา ในปี พ.ศ. 2524 สังกัดพีค็อก สเตอริโอ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ปีถัดมา คาราบาว ได้สมาชิกใหม่เพิ่มอีก 1 คน คือเล็ก - ปรีชา ชนะภัย มือกีตาร์จาdกวง เพรสซิเดนท์ (เล็กเป็นเพื่อนเก่าของแอ๊ดตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ช่างก่อสร้างอุเทนถวายด้วยกัน) มาร่วมงานในชุดที่ 2 คือชุด แป๊ะขายขวด ชุดที่ 3 ชุด "วณิพก" ในระหว่างนั้นวงคาราบาวในยุคแรกก็ได้ออกทัวร์เล่นคอนเสิร์ตตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าไร บางครั้งมีคนดูไม่ถึง 10 คนก็มี

คาราบาว มาประสบความสำเร็จถึงขีดสุดในอัลบั้มชุดที่ 5 ของวง คือชุด เมด อิน ไทยแลนด์ ที่วางจำหน่ายในปลายปี พ.ศ. 2527 ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงถึง 5,000,000 ตลับ/ก๊อปปี้ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทย และนับตั้งแต่นั้น ชื่อของ ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ก็เป็นที่รู้จักกันดีของคนไทย และออกผลงานเพลงร่วมกับวงคาราบาวมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้แสดงคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

โดย ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง เป็นผู้มีบุคคลิกเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าพูดกล้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมอย่างแรงและตรงไปตรงมา โดยสะท้อนออกมาในผลงานเพลง ที่เจ้าตัวจะเป็นผู้เขียนและร้องเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีออกมามากมายทั้งอัลบั้มในนามของวงและอัลบั้มเดี่ยวของตนเอง จนถึงวันนี้ไม่ต่ำกว่า 900 เพลง รวมถึงการแสดงออกในทางอื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่ชอบและไม่ชอบ โดยผู้ที่ไม่ชอบคิดเห็นว่า เป็นการแสดงออกที่ก้าวร้าว รวมถึงตั้งข้อสังเกตด้วยถึงเรื่องการกระทำของตัวยืนยงเอง

บทบาททางสังคมและข้อวิจารณ์

แอ๊ด คาราบาว ไม่จำกัดตัวเองแต่ในบทบาทของศิลปินเพลงเท่านั้น แต่ยังเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์และมีผลงานเขียนหนังสือและแสดงละคร ภาพยนตร์ต่าง ๆ ด้วย อาทิ เช่น เรื่องพรางชมพู กะเทยประจัญบาน (พ.ศ. 2545) ละครเรื่อง เขี้ยวเสือไฟ ทางช่อง 9 (พ.ศ. 2544) ลูกผู้ชายหัวใจเพชร ทางช่อง 7 (พ.ศ. 2546) เป็นต้น รวมถึงการทำงานภาคสังคมและมูลนิธิต่าง ๆ และยังได้แต่งเพลงประกอบโฆษณาหรือโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละโอกาสด้วย

ในปลายปี พ.ศ. 2545 แอ๊ด คาราบาว ได้เปลี่ยนบทบาทของตัวเองอย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นหุ้นส่วนสำคัญคนหนึ่งของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อ คาราบาวแดง โดยใช้ชื่อวงดนตรีของตัวเองมาเป็นจุดขาย ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างในสังคมว่า สมควรหรือไม่ กับผู้ที่เคยสู้เพื่ออุดมการณ์มาตลอด มาเป็นนายทุนเสียเอง ในปัจจุบันประชาชนหลายคนก็ยังเคลือบแคลงในจุดยืนของแอ๊ด

อย่างไรก็ตาม แอ๊ด คาราบาว ถือได้ว่าเป็นนักร้อง นักแต่งเพลงที่มีความสามารถแต่งเพลงสอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมืองมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เช่น มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค ๖) จากกบฏทหารนอกราชการ ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528, ราชดำเนิน, ใครฆ่าประชาชน, ล้างบาง, กระบี่มื้อเดียว, ทะเลใจ จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535[2], ขวานไทยใจหนึ่งเดียว จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2547[3], ซับน้ำตาอันดามัน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547, เว้นวรรค จากเหตุการณ์การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2549, ทหารพระราชา จากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[4], ทรงพระเจริญ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550, ลดธงครึ่งเสา จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551, ผู้ปิดทองหลังพระ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554[5], น้ำใจไทย จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในภาคกลางของไทย พ.ศ. 2554[6], นาวารัฐบุรุษ จากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557[7], เทพเจ้าด่านขุนทด จากการมรณภาพของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ในปี พ.ศ. 2558 เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2556 แอ๊ด คาราบาว ได้รับยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2556

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยืนยง โอภากุล http://www.carabaogroup.com/th/about/background http://www.facebook.com/carabaoofficial http://music.siamza.com/music.php?k=64K&id=3689 http://www.softbizplus.com/relax/1582-thai-spirit-... http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublic... http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.sudipan.net/phpBB2/viewtopic.php?p=1137... http://www.thairath.co.th/content/425418 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/B/... https://www.sanook.com/money/475769/